แนวทางปฏิบัติการเขียนอีเมลอย่างมืออาชีพ 24 ข้อ ที่มือโปรทุกคนทำ

แนวทางปฏิบัติการเขียนอีเมลอย่างมืออาชีพ

    สำหรับการดำเนินธุรกิจนั้น การสื่อสารอย่างเป็นทางการและมีความเป็นมืออาชีพถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การพูดคุยทางโทรศัพท์ หรือแม้แต่การสื่อสารด้วย email ก็ตาม ถ้าหากเราเขียน email อย่างเป็นกันเองมากจนเกินไป ก็อาจจะทำให้ผู้ที่รับอีเมลรู้สึกว่าเราไม่น่าเชื่อถือ และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ก็อาจจะกลายเป็นบทเรียนราคาแพงได้ แนวทางปฏิบัติการเขียนอีเมลอย่างมืออาชีพนี้ นอกจากจะช่วยให้คุณเขียนอีเมลได้อย่างเป็นมืออาชีพแล้ว ยังช่วยทำให้การสื่อสารด้วยอีเมลมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ถ้าพร้อมแล้ว เราไปดูกันเลย

แนวทางปฏิบัติการเขียนอีเมลอย่างมืออาชีพ 24 ข้อ ที่มือโปรทุกคนทำ

ข้อที่ 1 เขียนหัวข้อให้ชัดเจน

ข้อที่ 2 เลือกใช้คำทักทายที่เป็นมืออาชีพ

ข้อที่ 3 อย่าลืมแนะนำตัวเอง

ข้อที่ 4 เขียนอีเมลให้กระชับ

ข้อที่ 5 อย่าติดตลก

ข้อที่ 6 วางโครงสร้างอีเมลให้เหมาะสม

ข้อที่ 7 ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่พิมพ์เล็กให้ถูก

ข้อที่ 8 ระวังเรื่องน้ำเสียง

ข้อที่ 9 อย่าพูดถึงหัวข้อที่อ่อนไหวได้ง่าย

ข้อที่ 10 ระวังเรื่องการใช้เครื่องหมาย !

ข้อที่ 11 ระวังเรื่องความต่างด้านวัฒนธรรม

ข้อที่ 12 อย่าใช้อีโมจิ

ข้อที่ 13 ชื่อเว็บไซต์ต้องสั้นเข้าไว้

ข้อที่ 14 ใช้ฟ้อนท์มาตรฐาน สีและขนาดที่เหมาะสม

ข้อที่ 15 เลือกคำปิดท้ายให้ดูโปร

ข้อที่ 16 ชื่อและข้อมูลติดต่อกลับ

ข้อที่ 17 เช็คชื่อผู้รับให้ชัวร์

ข้อที่ 18 ตรวจคำผิดก่อนส่งอีเมล

ข้อที่ 19 ระวังเรื่องขนาดไฟล์แนบ

ข้อที่ 20 รู้จักใช้ BCC ให้เป็นประโยชน์

ข้อที่ 21 ตอบกลับอีเมลภายในเวลาที่เหมาะสม

ข้อที่ 22 ใช้ Reply all เท่าที่จำเป็น

ข้อที่ 23 คิดให้ดีก่อน Forward

ข้อที่ 24 ข้อความ Out-of-Office

สรุป

คำศัพท์ที่น่าสนใจ

1. เขียนหัวข้อให้ชัดเจน

    ในแต่ละวัน พวกเราทุกคนต่างก็ได้รับอีเมลกันเยอะมาก ๆ ซึ่งก็มีทั้งอีเมลที่มีความสำคัญมากและน้อยปน ๆ กันไป ดังนั้นการเขียนหัวข้ออีเมลให้ชัดเจนจะทำให้ผู้รับสามารถจัดลำดับความสำคัญได้อย่างรวดเร็ว วิธีการเขียนหัวข้อที่ดีคือพยายามเขียนให้ผู้รับสามารถรู้ได้ทันทีว่าอีเมลจะพูดเรื่องอะไรบ้าง แต่ต้องใช้คำให้สั้นและกระชับที่สุด การใช้เครื่องหมายคำพูดก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่จะทำให้หัวข้ออีเมลของเราเป็นที่เข้าใจได้ง่าย เช่น “ข้อเสนอ” หรือ “สมัครงาน” เป็นต้น

    สิ่งที่ห้ามทำโดยเด็ดขาดคือการส่งอีเมลไปโดยที่ไม่ได้เขียนหัวข้ออะไรเลย เพราะแทบจะรับประกันได้ 100% เลยว่าอีเมลของคุณจะถูกลบทิ้งแน่ ๆ

2. เลือกใช้คำทักทายที่เป็นมืออาชีพ

    คำทักทายที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับระดับความสัมพันธ์ของผู้ส่งกับผู้รับอีเมล ซึ่งอาจจะต้องเลือกใช้คำที่เป็นทางการมาก ๆ หรืออาจจะใช้คำที่เป็นทางการน้อยลงได้ในระดับหนึ่ง แต่คุณไม่ควรใช้คำที่ไม่เป็นทางการโดยเด็ดขาด

ตัวอย่างของคำทักทายที่มักจะพบเจอได้บ่อย ๆ ก็อย่างเช่น

  • Dear Ms./Mrs./Mr. <Last name>,
  • Hello <First name>,
  • Hi <First name>,

3. อย่าลืมแนะนำตัวเอง

    สำหรับข้อที่ 3 นี้คงจะไม่จำเป็นถ้าหากว่าคุณและผู้รับอีเมลรู้จักกันอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณเพิ่งจะติดต่อกันเป็นครั้งแรก การแนะนำตัวถือเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติการเขียนอีเมลอย่างมืออาชีพ คุณควรแนะนำตัวให้กระชับ ได้ใจความใน 1-2 บรรทัด และสำหรับกรณีที่คุณเคยพบหรือเคยพูดคุยกันมาก่อน แต่อาจจะผ่านมาสักพักแล้ว คุณควรเอ่ยถึงตอนที่คุณเคยพบหรือพูดคุยกับเค้าสักนิด เพื่อให้เค้านึกออกว่าคุณเป็นใคร

4. เขียนอีเมลให้กระชับ

    วัน ๆ นึง เราได้รับอีเมลกันเยอะมาก บางคนอาจได้รับอีเมลเกินวันละ 100 ฉบับด้วยซ้ำ คงไม่มีใครอยากจะเสียเวลาไปมากมายแค่เพราะต้องมานั่งอ่านอีเมลหรอก เพราะฉะนั้นเมื่อนึกถึงใจฝั่งคนรับอีเมลแล้ว คุณควรจะเขียนอีเมลให้สั้น กระชับ และตรงประเด็นที่สุด ถ้าหากว่าอีเมลของคุณมีหลายประเด็นที่ต้องการให้ผู้อ่านรับทราบ คุณควรทำเป็นลิสต์เพื่อให้อ่านและเข้าใจได้ง่าย

5. อย่าติดตลก

    การสื่อสารด้วยตัวอักษรไม่เหมือนกับการสื่อสารด้วยเสียง การเล่นมุกตลกต่างๆ โดยเฉพาะการใช้คำพูดเสียดสีอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างแรงได้ เพราะผู้รับสารไม่สามารถรู้ได้ว่าเราเขียนออกมาเพราะต้องการให้รู้สึกตลก หรือเราเขียนออกมาเพราะรู้สึกไม่พอใจจริง ๆ อย่าลืมว่าอีเมลที่เราส่งออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีเมลเพื่อการติดต่อธุรกิจ มักจะถูกส่งต่อไปที่คนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก สิ่งที่เรามองว่าตลกอาจจะเป็นเรื่องไม่ตลกสำหรับคนอื่นก็ได้

6. วางโครงสร้างอีเมลให้เหมาะสม

    แม้จะไม่ได้มีกฎตายตัวเรื่องการวางโครงสร้างของอีเมล แต่โดยปกติแล้วอีเมลเพื่อการติดต่อธุรกิจจะประกอบไปด้วย 5 ส่วน ดังนี้

  • หัวข้อ
  • คำทักทาย
  • เนื้อหา
  • คำปิดท้าย
  • ชื่อและข้อมูลติดต่อ

    นอกจากนี้ คุณควรเขียนอีเมลให้ผู้รับสามารถอ่านได้ง่าย โดยการเว้นช่องไฟให้เหมาะสม และเว้นบรรทัดระหว่างแต่ละส่วน รวมถึงเว้นบรรทัดระหว่างย่อหน้าในกรณีที่ส่วนเนื้อหาของคุณมีหลายย่อหน้าด้วย ถ้าหากว่าอีเมลของคุณจำเป็นต้องใส่ข้อมูลเยอะมากจริง ๆ การใช้ bullet point ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สามารถช่วยให้อีเมลของคุณอ่านง่ายขึ้นได้

7. ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่พิมพ์เล็กให้ถูก

    ในเมื่อคุณกำลังเขียนอีเมลเป็นภาษาอังกฤษ คุณก็ควรจะเขียนให้ถูกต้องตามหลักภาษา ไม่ต้องเป็นกังวลกับเรื่องนี้มากเกินไปนัก หากว่าคุณไม่ได้เขียนผิดซะจนอ่านไม่รู้เรื่อง ก็คงไม่มีใครมาจ้องจับผิดอะไรคุณหรอก แต่อย่างน้อย ๆ หลักภาษาพื้นฐานมาก ๆ อย่างเช่น การเริ่มต้นประโยคด้วยตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ หรือการใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เริ่มต้นคำในชื่อเฉพาะ ก็ควรเป็นอะไรที่คุณทำได้ถูกต้อง

8. ระวังเรื่องน้ำเสียง

    อย่างที่บอกไว้แล้ว ว่าการสื่อสารด้วยตัวอักษรนั้นไม่เหมือนกับการสื่อสารด้วยเสียง ผู้อ่านอาจจะเข้าใจสิ่งที่เราต้องการสื่อผิดไปคนละเรื่องเลยก็ได้ ดังนั้น คุณต้องระมัดระวังเรื่องการเลือกใช้คำ และน้ำเสียงของประโยคให้ดี ๆ คุณอาจลองให้เพื่อนร่วมงานของคุณลองอ่านสักรอบก่อนที่จะส่งอีเมลออกไปก็ได้

9. อย่าพูดถึงหัวข้อที่อ่อนไหวได้ง่าย

    การพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อที่อ่อนไหวได้ง่าย เช่น ศาสนา หรือการเมือง อาจทำให้เกิดความขัดแย้งกันจนเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้ ต่อให้เป็นการพูดคุยกันเองกับเพื่อน ๆ ของเราก็ตาม ดังนั้นแล้ว การพูดเกี่ยวกับหัวข้อที่อ่อนไหวได้ง่ายจึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งสำหรับการติดต่อธุรกิจ เพราะคุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอีกฝ่ายมีแนวความคิดแบบเดียวกันกับคุณหรือไม่ และอย่าลืมว่าอีเมลที่คุณส่งไปอาจจะไม่ได้มีผู้อ่านแค่คนเดียว ไม่ว่าจะเป็นคนอื่นเดินผ่านมาเห็นเข้า หรือจะเป็นการมือลั่นส่งต่ออีเมลไปให้กับคนอื่นก็ตาม อย่าลืมว่ากันไว้ดีกว่าแก้เสมอ

10. ระวังเรื่องการใช้เครื่องหมาย !

    เครื่องหมาย ! นอกจากจะสามารถใช้แสดงความรู้สึกตื่นเต้นได้แล้ว ยังสามารถใช้แสดงการตะโกนหรือว่าขึ้นเสียงได้ด้วย แน่นอนว่าตามปกติแล้วเราคงจะไม่ตะโกนเวลาที่เราประชุมธุรกิจกันแน่ ๆ กับการเขียนอีเมลก็ไม่ต่างกัน ดังนั้น พยายามอย่าใช้เครื่องหมาย ! ในอีเมลของคุณ ถ้าหากจะใช้ ก็ใช้แค่กรณีที่ต้องการแสดงความตื่นเต้นเท่านั้น และไม่ควรใช้เกิน 1 ครั้งในแต่ละอีเมลด้วย

11. ระวังเรื่องความต่างด้านวัฒนธรรม

    เชื่อว่าเรื่องนี้คงเดากันได้ไม่ยาก ในแต่ละสังคมมีวัฒนธรรมและธรรมเนียมปฏิบัติไม่เหมือนกัน สิ่งที่สังคมนี้เค้าทำกันอาจจะกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในอีกสังคมนึงก็ได้ ดังนั้นคุณควรศึกษาเกี่ยวกับผู้รับอีเมลของคุณให้ดีเพื่อจะได้ป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่ไม่ควรเป็นปัญหาขึ้นมา ถ้าหากว่าคุณยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับตัวผู้รับอีเมลของคุณ ผมแนะนำให้ยึดถือตามแนวทางการเขียน Business Email ให้ดูโปร ด้วย 5 ขั้นตอนที่ทำเมื่อไหร่ ก็ดูโปรเมื่อนั้น

12. อย่าใช้อีโมจิ

    ถึงแม้เราจะใช้อีโมจิกันทุกวันเป็นเรื่องปกติในแอพสำหรับพูดคุยกันก็ตาม แต่ว่าสำหรับการติดต่อธุรกิจแล้ว ยังไงซะ การรักษาความเป็นมืออาชีพเอาไว้ย่อมเหมาะสมกว่า นอกจากการใช้อีโมจิจะทำให้คุณดูขาดความเป็นมืออาชีพแล้ว หลาย ๆ ครั้ง คนแต่ละคนยังอาจมีการตีความสัญลักษณ์อีโมจิแตกต่างกันไปอีกด้วย ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งผลเสียต่อตัวคุณเองหรือแม้กระทั่งองค์กรของคุณได้

13. ชื่อเว็บไซต์ต้องสั้นเข้าไว้

    การเอาชื่อเว็บไซต์แบบยาว ๆ ส่งไปในอีเมลจะทำให้อีเมลดูยุ่งเหยิงและทำให้ไม่น่าอ่าน ดังนั้นคุณควรทำชื่อเว็บไซต์ให้สั้น ๆ เข้าไว้ คุณสามารถใช้บริการย่อชื่อเว็บไซต์หรือบริการสร้าง QR Code แบบฟรี ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์นี้ เป็นต้น หรือว่าอาจจะใช้ Hyperlink ก็ได้เช่นกัน

14. ใช้ฟ้อนท์มาตรฐาน สีและขนาดที่เหมาะสม

    หลักการพื้นฐานของการเขียนอีเมลอย่างมืออาชีพคือทำให้อีเมลของเราอ่านง่าย ดังนั้นการเลือกใช้ฟ้อนท์ที่ทุกคนชินตาอยู่แล้ว จะทำให้ผู้อ่านไม่รู้สึกอึดอัดและพร้อมที่จะมีสมาธิกับอีเมลของเรา ฟ้อนท์มาตรฐานที่ได้รับความนิยมคือ

  • Arial
  • Helvetica
  • Calibri
  • Courier
  • Times New Roman

    สำหรับเรื่องของสีและขนาด สีที่คุณต้องเลือกคือสีดำเท่านั้น และขนาดมาตรฐานของตัวอักษรจะอยู่ที่ 10 ถึง 12 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยาวของอีเมลของคุณด้วย

15. เลือกคำปิดท้ายให้ดูโปร

    คำปิดท้ายอีเมลที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับระดับความสัมพันธ์ของผู้ส่งและผู้รับเป็นหลัก โดยปกติแล้ว เราควรเลือกระดับความเป็นทางการของคำปิดท้ายให้สัมพันธ์กันกับตอนที่เราเลือกคำทักทายนั่นเอง คำปิดท้ายที่ใช้กันโดยทั่วไปก็จะมีตามนี้

  • Sincerely,
  • Kind regards,
  • Regards,
  • Best,
  • Thank you,

16. ชื่อและข้อมูลติดต่อกลับ

    อย่าลืมใส่ชื่อและข้อมูลติดต่อกลับของคุณ เพื่อที่ว่าถ้าหากอีกฝ่ายต้องการติดต่อคุณ เค้าจะได้ไม่ต้องเสียเวลาค้นหาข้อมูลไปเปล่า ๆ

17. เช็คชื่อผู้รับให้ชัวร์

    ลองคิดดูว่า ถ้าหากมีใครติดต่อคุณมาแล้วเค้าเขียนชื่อของคุณผิด คุณจะรู้สึกยังไง แน่นอนว่าบางคนอาจคิดว่าไม่เป็นไร ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่อย่าลืมว่าคนแต่ละคนมีความคิดไม่เหมือนกัน คนบางคนอาจจะมองไปถึงความเป็นมืออาชีพของคนที่ส่งอีเมลมา และอาจจะคิดว่าองค์กรนั้น ๆ ขาดความน่าเชื่อถือจนไม่กล้าทำธุรกิจร่วมกันไปด้วย ที่พูดมานี่ยังไม่รวมปัญหาที่อาจเกิดถึงเรื่องความแตกต่างด้านวัฒนธรรมอีกด้วย

18. ตรวจคำผิดก่อนส่งอีเมล

    เวลาที่เราอ่านอะไรบางอย่างแล้วเจอการสะกดคำผิดบ่อย ๆ เราเองก็คงจะรู้สึกว่าอ่านแล้วมันสะดุด ติด ๆ ขัด ๆ จนทำให้รู้สึกไม่อยากอ่านต่อใช่มั้ย แล้วลองคิดดูว่าถ้าเป็นการติดต่อธุรกิจล่ะ มันจะส่งผลมากขนาดไหน ไม่ใช่แค่รู้สึกว่าไม่อยากอ่านอีเมลแล้ว แต่อาจเลยเถิดไปถึงขั้นรู้สึกว่าบริษัทนี้ไม่น่าเชื่อถือก็เป็นได้ และถ้าคุณเขียนอีเมลเป็นภาษาอังกฤษ การเขียนให้ถูกหลักไวยากรณ์ก็ถือเป็นสิ่งที่ควรทำด้วย คุณควรตรวจสอบเนื้อหาก่อนที่คุณจะส่งอีเมลออกไปอย่างน้อย ๆ ก็สัก 2 ครั้ง

19. ระวังเรื่องขนาดไฟล์แนบ

    ถ้าหากเราต้องส่งไฟล์แนบไปกับอีเมลด้วย สิ่งที่ต้องนึกถึงเป็นอย่างแรกคือขนาดของไฟล์ คุณไม่ควรแนบไฟล์ที่ขนาดใหญ่จนเกินไปคู่ไปกับอีเมลของคุณ ถ้าหากจำเป็นต้องส่งไฟล์ขนาดใหญ่ล่ะก็ ลองเปลี่ยนไปใช้ระบบ Cloud Storage ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้รับได้อย่างดีเยี่ยม

20. รู้จักใช้ BCC ให้เป็นประโยชน์

    การส่งอีเมลโดยใช้ BCC จะช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้รับอีเมลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เราจำเป็นต้องส่งอีเมลแบบเดียวกันไปหาคนหลาย ๆ คนพร้อม ๆ กัน

21. ตอบกลับอีเมลภายในเวลาที่เหมาะสม

    สำหรับบางคน วัน ๆ นึงอาจจะได้รับอีเมลมหาศาลจนไม่อยากจะอ่าน แต่หากเราไม่ตอบกลับก็อาจจะมีผลทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ ดังนั้นถ้าหากมันไม่เหลือบ่ากว่าแรง เราก็ควรตอบอีเมลกลับทุกอีเมลถึงแม้ว่าจะเป็นแค่การตอบกลับไปว่าได้รับอีเมลจากเค้าแล้วก็ตาม สำหรับเรื่องระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะต้องตอบกลับอีเมล ให้คุณลองแบ่งตามระดับความสำคัญ ในกรณีอีเมลที่สำคัญมากเช่นลูกค้าต้องการข้อมูลเพื่อตัดสินใจทันที คุณต้องหยุดทำอย่างอื่นแล้วมาตอบทันที ถ้าเป็นกรณีสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน คุณอาจจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง หรือถ้าความสำคัญลดลงมา ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นตอบกลับภายใน 48 ชั่วโมง เป็นต้น

22. ใช้ Reply all เท่าที่จำเป็น

    อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าในแต่ละวัน เราได้รับอีเมลกันเยอะมาก ๆ ดังนั้น ถ้าเป็นเนื้อหาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับใครโดยตรง หรือถ้าหากคน ๆ นั้นไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องได้รับอีเมลฉบับนี้ ก็อย่าให้ชื่อของเค้าโผล่มาเป็นผู้รับเลย มันจะเป็นการรบกวนการทำงานของเค้าเปล่า ๆ

23. คิดให้ดีก่อน Forward

    หลายต่อหลายครั้ง เรามีข้อมูลที่เป็นความลับ หรือข้อมูลบางอย่างที่อาจจะอ่อนไหวต่อความรู้สึก ดังนั้นคุณต้องระวังเรื่องข้อมูลพวกนี้ให้ดี ตรวจสอบให้ดีก่อนเสมอว่าอีเมลที่เรากำลังจะส่งต่อออกไปนั้นมีข้อมูลอะไรที่ไม่ควรส่งออกไปหรือไม่ ถ้ามีข้อมูลอะไรที่ไม่ควรส่งต่อออกไป ก็ให้ลบตรงส่วนนั้นทิ้งซะ

24. ข้อความ Out-of-Office

    สำหรับเรื่องนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย แต่ก็มีหลายคนที่มองข้ามเรื่องเล็ก ๆ นี้ไป ผู้ที่ต้องการติดต่อกับคุณคงไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่าคุณอยู่ในระหว่างพักร้อน หรือว่าคุณไปทำงานต่างประเทศรึเปล่า ถ้าหากว่าคุณไม่ได้ตั้งข้อความตอบกลับอัตโนมัติล่วงหน้าเอาไว้ อีกฝ่ายก็คงจะรู้สึกร้อนใจเพราะไม่ได้รับข้อมูลจากคุณสักที ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดคือการตั้งข้อความตอบกลับอัตโนมัติเพื่อแจ้งให้ผู้ที่ส่งอีเมลมาหาคุณได้ทราบว่าคุณไม่สะดวกตอบกลับในเร็ว ๆ นี้ หรือคุณอาจจะระบุชื่อผู้ร่วมงานที่สามารถช่วยตอบคำถามหรือให้ข้อมูลบางอย่างแทนคุณเอาไว้ก็ได้

สรุป

    ต่อจากนี้คุณไม่ต้องคอยเป็นกังวลเวลาที่ต้องเขียนอีเมลทางการเพื่อส่งให้กับเจ้านาย ลูกค้า หรือคู่ค้าของคุณอีกต่อไปแล้ว เพียงแค่คุณยึดตามแนวทางปฏิบัติทั้ง 24 ข้อนี้เอาไว้ อีเมลทุกฉบับที่คุณเขียนและส่งออกไปก็จะมีความเป็นมืออาชีพขึ้นมาทันที นอกจากจะทำให้คุณดูมือโปรมากขึ้นแล้ว ยังทำให้การสื่อสารด้วยอีเมลของคุณมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างมากอีกด้วย แต่ถ้าหากว่าคุณยังไม่มั่นใจในเรื่องการเขียนเนื้อหาอีเมลล่ะก็ คุณสามารถนำ 9 ตัวอย่างการเขียน Email เพื่อติดต่อธุรกิจอย่างมืออาชีพ ไปปรับเนื้อหาให้เข้ากับสถานการณ์ของคุณแล้วส่งออกไปอย่างมั่นใจได้เลย

คำศัพท์ที่น่าสนใจในบทความนี้

application (n.) = การสมัครงาน

guarantee (v.) = การันตี

concise (v.) = กระชับ

sensitive (adj.) = (ที่)อ่อนไหวได้ง่าย

exclamation mark (n.) = เครื่องหมาย !

cultural differences (n.) = ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม

recipient (n.) = ผู้รับ

proofread (v.) = ตรวจสอบตัวสะกด

attachment (n.) = ไฟล์แนบ

urgent (adj.) = (ที่)เร่งด่วน

เรียนภาษาอังกฤษสำหรับมือใหม่ ‘เรียนชาตินี้ เก่งถึงชาติหน้า’ ที่ English Munmun กับคอร์สเรียนที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจากผู้เรียนกว่า 17,000 คน ว่าพูดได้จริง ไม่ใช่แค่ท่องจำ

วัดระดับภาษาอังกฤษ ฟรี! คลิกที่นี่

รับคอร์สเรียน ฟรี! คลิกที่นี่

กลับสู่สารบัญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ประเภทจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้ประเภทจำเป็นสำหรับระบบเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า