1. เลือกเรื่องที่สนุก
แน่นอนละว่าข้อนี้ทุกคนเองก็คงจะเดาได้ไม่ยากเพราะถ้าเราเลือกหนังที่น่าเบื่อเราก็จะไม่อยากดูต่อแล้วก็คงยากที่จะดูจนจบได้ สมัยที่ตัวผมเองเริ่มฝึกภาษาอังกฤษจากหนัง ผมเลือกดูเรื่องที่คนเค้าแนะนำกัน แต่ปรากฏว่าดันเป็นหนังที่ผมรู้สึกไม่ชอบเอาซะเลย แต่ผมก็พยายามทนดูจนจบ สุดท้ายก็แทบไม่ได้เรียนรู้อะไรจากหนังเรื่องนั้นเลย และเพราะแบบนี้เองผมถึงแนะนำให้เลือกหนังที่เราชอบไว้ก่อน เราอาจจะเลือกจากหนังที่เราเคยดูมาก่อนแล้วก็ได้ หรือถ้ายังไม่มีเรื่องที่ชอบ ผมแนะนำให้ลองดูรีวิวจากเว็บไซต์รีวิวหนังชื่อดังอย่าง Rotten Tomatoes หรือ IMDb เป็นต้น
2. เลือกหนังให้เหมาะกับระดับภาษาอังกฤษของเรา
“พยายามฝึกภาษาอังกฤษจากหนังแล้วแต่ว่าฟังไม่ทันเลย ทำยังไงดี?”
“พอจะฟังคำออก แต่ไม่รู้ว่าเค้าพูดถึงอะไรกัน แก้ยังไง?”
ผมเจอคำถามลักษณะประมาณนี้บ่อยมาก ๆ ที่จริงแล้ววิธีแก้นั้นไม่ยากเลย แต่สิ่งสำคัญก็คือเราต้องรู้ซะก่อนว่าปัญหาที่แท้จริงของเราคืออะไร แล้วสรุปว่าปัญหาที่ว่ามันคืออะไรละ?
คำตอบก็คือ หนังเรื่องที่เรากำลังใช้ฝึกอยู่นั้นมันยากเกินกว่าพื้นฐานของเรานั่นเอง เพราะฉะนั้นแล้ว วิธีแก้ไม่ยากเลย ก็แค่เลือกหนังเรื่องใหม่ให้มันเหมาะกับเราแค่นั้นแหละ คำแนะนำเบื้องต้นก็คือว่าถ้าระดับพื้นฐานภาษาของเรายังไม่ค่อยดีนัก เราควรจะเริ่มจากหนังที่พูดช้า ๆ ชัด ๆ ก่อน เช่น การ์ตูนสำหรับเด็ก เป็นต้น
3. ใช้ Subtitle ให้เกิดประโยชน์
สำหรับคนที่ยังพื้นฐานไม่ดีนัก การจะฝึกฟังภาษาอังกฤษจากหนังให้เข้าใจได้ 100% เป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นการเปิด Subtitle จะช่วยให้เราเข้าใจในสิ่งที่นักแสดงพูดได้ถูกต้อง นอกจากนี้ยังทำให้เราเข้าใจเรื่องราวและอารมณ์ของหนังได้ดีขึ้นด้วย ตอนที่ผมเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองนั้น ผมใช้วิธีเปิด Subtitle ในรอบแรก ๆ ที่ดูก่อน แล้วถ้ามีประโยคไหนที่ฟังไม่ทัน ผมก็จะย้อนกลับไปฟังพร้อมกับอ่าน Subtitle ไปซ้ำ ๆ จนกว่าจะฟังทัน แล้วถึงจะดูต่อ และเมื่อผมฝึกซ้ำรอบต่อ ๆ ไป ผมจะพยายามดูโดยไม่เปิด Subtitle ถ้าหากว่าใครยังไม่มีแนวทางการฝึกในใจ ลองเอาวิธีที่ผมใช้ไปลองดูก็ได้นะ
4. เตรียมเปิดดิก
เอ๊ะ! ไหนบอกว่าให้เลือกดูหนังที่สนุกไง แล้วมันจะต้องเปิดดิกทำไม?
มันก็ใช่ที่ว่าให้ดูให้สนุก แต่อย่าลืมว่าเรากำลังฝึกภาษาอังกฤษจากหนังอยู่ด้วย ถ้าเราดูไปเรื่อยเปื่อย เอาแค่ความสนุก โดยไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของเนื้อเรื่อง เราอาจจะพลาดอรรถรสที่แท้จริงของหนัง หรือพลาดมุกตลกที่ซ่อนอยู่ในบทพูดก็เป็นได้ ดังนั้นเวลาเจอคำศัพท์ หรือสำนวนใหม่ ๆ ที่เราสามารถนำไปใช้ได้ เราก็ควรจะจดเก็บเอาไว้และควรเปิดดิกเพื่อเช็คความหมายด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันนี้มีแอปพลิเคชันดิกชันนารีให้ดาวน์โหลดมาใช้ในมือถือได้ หรือถ้าใครไม่อยากดาวน์โหลดเก็บไว้ในมือถือ ก็สามารถใช้ดิกชันนารีออนไลน์ที่มีให้ใช้กันแบบฟรี ๆ ซึ่งมีให้เลือกมากมายหลายสำนักเลย ผมแนะนำ 3 ยี่ห้อที่ผมคิดว่าอ่านเข้าใจง่ายสำหรับมือใหม่ตามนี้
- แบบแปลอังกฤษเป็นไทย Google Translate
- แบบแปลอังกฤษเป็นอังกฤษ Oxford และ Longman
5. ฝึกพูดตาม
เมื่อเราดูหนังบ่อย ๆ เข้า เราจะพบว่ามีอยู่หลาย ๆ วลี หลาย ๆ สำนวน หรือหลาย ๆ ประโยค ที่หลาย ๆ ตัวละครในหนังหลาย ๆ เรื่องมักจะพูดกัน แสดงให้เห็นว่าวลี สำนวน หรือประโยคเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกใช้กันอยู่บ่อย ๆ ในชีวิตจริง ยกตัวอย่างเช่น “Hell yeah”, “Cool”, “You bet”, “Gotcha”, “The thing is” เป็นต้น ดังนั้น นอกจากเราควรจะเข้าใจความหมายและอารมณ์ของคำพูดเหล่านี้แล้ว เราก็ควรที่จะฝึกพูดให้ชินปากเอาไว้ด้วย การพูดออกเสียงนั้นนอกจากจะทำให้พูดชัดและถูกต้องขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยให้เราฟังเก่งขึ้นอีกด้วย และผมรับประกันได้เลยว่าเราจะได้ยินและมีโอกาสได้ใช้คำพูดเหล่านี้ในชีวิตจริงแน่นอน
6. ปล่อยผ่านซะบ้าง
เวลาที่เราฝึกฟังภาษาอังกฤษจากหนัง เราไม่จำเป็นต้องไปโฟกัสกับคำศัพท์ทุกคำ หรือประโยคทุกประโยคก็ได้ เพราะว่าบางครั้งมันก็ไม่ใช่คำหรือประโยคที่ใช้บ่อยหรือมีความสำคัญมากมายอะไร ไม่ต้องเป็นห่วงว่าเราจะพลาดสิ่งสำคัญอะไรไป เพราะถ้าหากว่าคำหรือประโยคนั้นเป็นสิ่งที่ใช้อยู่บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันจริง ๆ ละก็ เดี๋ยวเราก็จะได้เจอจากในหนังเรื่องต่อ ๆ ไปอยู่ดี สุดท้ายนี้ อย่าลืมว่าเราเลือกฝึกภาษาอังกฤษจากหนังเพราะเราต้องการความสนุกไปพร้อม ๆ กับการเรียน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามีคำพูด สำนวน หรือประโยคไหนที่เราฟังไม่ทัน แล้วเราดูแล้วว่าไม่ได้มีความสำคัญซักเท่าไหร่ เราก็ปล่อยผ่านไปบ้างก็ได้
สรุป 6 เทคนิค ฝึกภาษาอังกฤษจากหนัง
- เลือกเรื่องที่สนุก
- เลือกหนังให้เหมาะกับระดับภาษาอังกฤษของเรา
- ใช้ Subtitle ให้เป็นประโยชน์
- เตรียมเปิดดิก
- ฝึกพูดตาม
- ปล่อยผ่านซะบ้าง
คำศัพท์ที่น่าสนใจในบทความนี้
guess (v.) = เดา
boring (adj.) = (ที่) น่าเบื่อ
recommend (v.) = แนะนำ
try (v.) = พยายาม
meaning (n.) = ความหมาย
joke (n.) = มุกตลก
hidden (adj.) = (ที่) ซ่อนอยู่
phrase (n.) = วลี
guarantee (v.) = รับประกัน
let it go (idm.) = ปล่อยไป