เคยมั้ย ฟังอังกฤษเข้าใจ คำศัพท์ก็มีในหัว แต่ทำไมเวลาสื่อสารออกไปแล้วคนฟังไม่เข้าใจ???
ขณะที่ความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษเปิดทางสู่โอกาสมากมาย ไม่ว่าเราจะใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน การศึกษา หรือการสื่อสารทางธุรกิจ การเรียนรู้ภาษาไม่ใช่แค่เพียงการเรียนรู้คำศัพท์หรือ ไวยากรณ์ 12 tenses สำเนียงและการออกเสียงถือเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เราสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การฝึกปรับสำเนียงภาษาอังกฤษให้มีความรื่นหูและฟังดูเป็นธรรมชาติจะทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อได้ง่ายขึ้น สำหรับคนที่ต้องการให้การพูดภาษาอังกฤษของตัวเองฟังดูมีความเป็นธรรมชาติและใกล้เคียงกับเจ้าของภาษามากขึ้น ในบทความนี้ English Munmun ได้รวบรวมเทคนิคที่หลาย ๆ คนควรรู้เพื่อช่วยในการปรับสำเนียงภาษาอังกฤษมาไว้ให้แล้ว ไปดูกันเลย!
7 เทคนิค ปรับสำเนียงภาษาอังกฤษ (Accent) ให้ใกล้เคียงเจ้าของภาษา
1. สำเนียง vs. การออกเสียง (Accent vs. Pronunciation)
2. ความหลากหลายของสำเนียงภาษาอังกฤษ (Different Accents)
3. รู้จักการลงเสียงหนัก (Stress)
4. รู้จักเสียงสูงเสียงต่ำ (Intonation)
5. รู้จักการเชื่อมเสียง (Linking Sound)
6. รู้จักตัดเสียงที่ไม่จำเป็น (Elision)
1. สำเนียง vs. การออกเสียง (Accent vs. Pronunciation)
สำเนียง (Accent) คือ น้ำเสียง จังหวะ และรูปแบบการออกเสียงที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคลหรือประชากรกลุ่มหนึ่ง โดยมีภูมิลำเนา สภาพแวดล้อม ชนชั้นทางสังคม และอื่น ๆ เข้ามาเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสำเนียงของแต่ละบุคคล กล่าวคือ ในภูมิภาคหนึ่งอาจมีการใช้น้ำเสียง วิธีการออกเสียง รวมไปถึงความหลากหลายทางคำศัพท์ที่แตกต่างออกไปจากอีกภูมิภาคหนึ่ง เช่น ภาษาอังกฤษแบบบริติช (British English) และ ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน (American English)
การออกเสียง (Pronunciation) คือ วิธีการพูด อ่าน หรือเปล่งเสียงคำ ๆ หนึ่งในแต่ละภาษาโดยยึดบรรทัดฐานทางภาษาเป็นหลัก จะเน้นไปที่ตำแหน่งและวิธีที่ใช้ในการเปล่งเสียงออกมาโดยไม่คำนึงถึงภูมิภาคและวัฒนธรรม เช่น การออกเสียงตัว L และ ตัว R ในภาษาอังกฤษมีความแตกต่างกัน หรือ การลงเสียงหนักเบาในแต่ละพยางค์ที่อาจส่งผลให้ความหมายของคำเปลี่ยนไป เป็นต้น
2. ความหลากหลายของสำเนียงภาษาอังกฤษ (Different Accents)
เคยโดนล้อสำเนียงกันบ้างหรือเปล่า? การล้อเลียนสำเนียงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนไม่กล้าที่จะฝึกพูดภาษาอังกฤษ สูญเสียความมั่นใจ และอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนต้องการปรับสำเนียงภาษาอังกฤษของตัวเอง
แต่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่มีผู้ใช้อยู่ทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้สำเนียงภาษาอังกฤษนั้นมีความหลากหลายมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น Australian English, Scottish English, South African English และอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ได้มีเพียงแค่ภาษาอังกฤษแบบบริติช หรือ ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน เหมือนที่ Bullies ทั้งหลายที่ชอบล้อหรือจับผิดสำเนียงคนอื่นอาจจะเข้าใจกันไปแบบนั้นแล้วทำให้คนอื่นดูเป็นตัวตลกนะ!
English Munmun ขอแอบกระซิบว่าแม้แต่ Native Speakers เองก็มีหลายสำเนียง และบางทีพวกเขายังไม่เข้าใจกันเองเลย ถ้าไม่เชื่อ…ลองไปดูคลิปนี้กัน!
3. รู้จักการลงเสียงหนัก (Stress)
ในการปรับสำเนียงภาษาอังกฤษ สิ่งหนึ่งที่ควรรู้คือภาษาอังกฤษจะมีการลงเสียงหนัก (Stress) ที่คำที่มีตั้งแต่สองพยางค์ขึ้นไป ซึ่งถ้าเราลงเสียงผิดอาจทำให้ความหมายของคำนั้น ๆ เปลี่ยนไปเลย ยกตัวอย่างคำที่คนไทยมักลงเสียงผิดกันอยู่บ่อย ๆ เช่น คำว่า “Present” ถ้าเราลงเสียงหนักที่พยางค์แรก จะทำให้คำนี้กลายเป็นคำนามหรือคำคุณศัพท์ที่หมายถึง ของขวัญ/ที่เป็นปัจจุบัน แต่ถ้าเราลงเสียงหนักที่พยางค์ที่สองของคำ จะทำให้คำนี้กลายเป็นคำกริยาที่หมายถึง นำเสนอบางสิ่งบางอย่าง
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคำเลยนะที่ถ้าลงเสียงหนักเบาผิดชีวิตเปลี่ยนทันที! ถ้าอยากรู้ว่ามีคำไหนที่เรายังลงเสียงผิดอยู่ ลองเข้าไปดู STRESS สำคัญมาก ได้เลย!
4. รู้จักเสียงสูงเสียงต่ำ (Intonation)
แม้ว่าในภาษาอังกฤษจะไม่มีรูปวรรณยุกต์เหมือนกับภาษาไทย แต่รู้มั้ยว่าเจ้าของภาษาเองก็มีการใช้เสียงสูงเสียงต่ำเพื่อถ่ายทอดความหมายหรือบริบทออกมาเหมือนกัน?! การรู้จัก Intonation จะช่วยให้เราสามารถปรับสำเนียงภาษาอังกฤษของเราให้เป็นธรรมชาติและน่าฟังขึ้น โดยเราสามารถแบ่งการใช้ Intonation ออกเป็น 2 แบบดังนี้
1. Rising intonation: การใช้เสียงสูงท้ายประโยค
❀ ใช้เสียงสูงลงท้ายคำถามประเภท Yes/No Question
ตัวอย่าง:
Are you coming?
❀ ใช้เสียงสูงท้ายประโยคกึ่งบอกเล่ากึ่งคำถามเพื่อแสดงความไม่มั่นใจ (Uncertainty)
ตัวอย่าง:
He said the concert starts at seven?
2. Falling intonation: การใช้เสียงต่ำท้ายประโยค
❀ ใช้เสียงต่ำท้ายประโยคใจความสมบูรณ์ธรรมดา
ตัวอย่าง:
He is sick.
❀ ใช้เสียงต่ำท้ายคำถามประเภท WH-Question
ตัวอย่าง:
Who is she?
❀ ใช้เสียงต่ำเพื่อเน้นคำ (ไม่จำเป็นจะต้องเป็นท้ายประโยคเสมอไป)
ตัวอย่าง:
Give it to me now!
ข้อสังเกต: Intonation จะทำหน้าที่เสมือน Punctuation เวลาสื่อสารด้วยคำพูด ซึ่งจะช่วยให้เราแยกแยะประเภทและบริบทของสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อได้ดียิ่งขึ้น
5. รู้จักการเชื่อมเสียง (Linking Sound)
เคยสงสัยกันมั้ยว่าทำไมเวลาที่เราพูดหรืออ่านอะไรที่เป็นภาษาอังกฤษยาว ๆ มันมักจะติดขัด ไม่ค่อยลื่นไหลเท่าไหร่? ปัญหานี้จะหมดไปถ้าเรารู้จักกับ Linking Sound หรือ การเชื่อมเสียงท้ายของคำหนึ่งกับเสียงแรกของคำถัดไป ที่จะช่วยให้เราปรับสำเนียงภาษาอังกฤษให้เป๊ะปังขึ้น! โดยการเชื่อมเสียงจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ ดังนี้
1. การเชื่อมเสียงพยัญชนะกับสระ (Consonant to vowel)
ตัวอย่าง:
Go find it! (โกวฺ ฟายนฺดฺ อิท —> โกวฺ ฟายนฺ ดิท)
2. การเชื่อมเสียงสระกับสระ (Vowel to vowel)
ตัวอย่าง:
I saw it early on. (เออ-หลิ ออน —> เออ-หลิ ยอน)
6. รู้จักตัดเสียงที่ไม่จำเป็น (Elision)
การตัดเสียง (Elision) มักจะถูกนำมาใช้ในการพูดภาษาอังกฤษเมื่อเกิดความลำบากในการออกเสียงพยัญชนะบางตัวที่อยู่ติด ๆ กัน โดยเทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่เจ้าของภาษามักใช้กันและจะช่วยให้เราสามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องขึ้น ไวขึ้น และปรับสำเนียงภาษาอังกฤษของตัวเองให้มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้นเพราะประหยัดแรงไปได้เยอะ! เช่น การตัดเสียง t ที่อยู่ระหว่างเสียงพยัญชนะอีกสองเสียงในประโยค See you next week!
ตัวอย่าง:
See you next week! (ซี ยู เนกสฺทฺ วีก) —> See you next week! (ซี ยู เนกสฺ วีก)
แทนที่เราจะมานั่งกังวลว่าต้องออกเสียงทั้งตัว x และ t ให้เป๊ะ ๆ เราก็ ตัดเสียง t ออกไปซะเลย
7. ห้ามทำสิ่งนี้ถ้าอยาก “ปรับสำเนียงภาษาอังกฤษ”
หลังจากที่เรารู้เทคนิคปรับสำเนียงภาษาอังกฤษกันไปพอสมควรแล้ว English Munmun ขอใช้พื้นที่นี้ในการแบ่งปัน 3 สิ่งที่หลาย ๆ คนอาจจะเผลอทำโดยไม่รู้ตัวเวลาฝึกปรับสำเนียงภาษาอังกฤษเพื่อเป็นประโยชน์และอาจช่วยให้มีความสุขกับการฝึกมากขึ้น มาดูกันเลย!
1. ฟังอย่างเดียวแต่ไม่ฝึก
อยากปรับสำเนียงภาษาอังกฤษให้เป๊ะปัง อย่าเอาแต่ฟัง! เราไม่มีทางเก่งได้ถ้าเราไม่ลองผิดลองถูก ดังนั้น เวลาที่เราได้ยินภาษาอังกฤษไม่ว่าจะเป็นจากเจ้าของภาษาหรือสื่อต่าง ๆ ให้เราลองฝึกพูดตามออกมาดัง ๆ ให้ตัวเองได้ยิน จากนั้น ค่อย ๆ ลองสังเกตตัวเองว่ายังมีจุดไหนที่ต้องเพิ่มเติม โดยเราสามารถใช้เทคนิคที่ English Munmun ให้ไปด้านบนในการฝึกได้ด้วยนะ!
2. ฉันต้อง perfect
แน่นอนว่าใคร ๆ ก็อยากเก่ง แต่คนเก่งไม่ได้แปลว่าสมบูรณ์แบบ แม้แต่ตัวเจ้าของภาษาเองก็สามารถพูดหรือออกเสียงผิดได้ ดังนั้น เราก็ไม่จำเป็นจะต้องกดดันตัวเองหรือมุ่งเป้าไปที่ความสมบูรณ์แบบเท่านั้น ในทางกลับกัน การมุ่งเป้าไปที่การสื่อสารที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ค่อย ๆ ปรับสำเนียงภาษาอังกฤษและพัฒนาไปเรื่อย ๆ จะทำให้เรามีความสุขกับการฝึกและการเห็นตัวเองพัฒนาขึ้นในแต่ละวันมากกว่า 🙂
3. ยึดติดกับสำเนียงเดียว
หลายคนอาจมีสำเนียงโปรดในใจและอยากที่จะปรับสำเนียงภาษาอังกฤษของตัวเองให้เป๊ะแบบนั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่อย่างที่ English Munmun ได้บอกไปข้างต้นว่าสำเนียงภาษาอังกฤษนั้นมีความหลากหลาย ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทดลองฝึกฟังหรือออกเสียงหลาย ๆ สำเนียงจนคุ้นชินก็จะช่วยเปิดโอกาสให้เราสามารถสื่อสารกับผู้คนได้หลากหลาย แถมยังยังสนุกอีกด้วย!
สรุป
- รู้จักความต่างระหว่างสำเนียงกับการออกเสียง (Accent vs. Pronunciation)
- รู้จักความหลากหลายของสำเนียงในภาษาอังกฤษ (Different Accents)
- รู้จักการลงเสียงหนัก (Stress)
- รู้จักเสียงสูงเสียงต่ำ (Intonation)
- รู้จักการเชื่อมเสียง (Linking Sound)
- รู้จักสิ่งที่ไม่ควรทำในการปรับสำเนียงภาษาอังกฤษ
คำศัพท์ที่น่าสนใจในบทความนี้
เรียนภาษาอังกฤษสำหรับมือใหม่ ‘เรียนชาตินี้ เก่งถึงชาติหน้า’ ที่ English Munmun กับคอร์สเรียนที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจากผู้เรียนกว่า 20,000 คน ว่าพูดได้จริง ไม่ใช่แค่ท่องจำ
วัดระดับภาษาอังกฤษ ฟรี! คลิกที่นี่
สนใจคอร์สเรียน คลิกที่นี่ เพื่อดูรายละเอียดได้เลย
กลับสู่สารบัญ