7 เทคนิค เคล็ด(ไม่)ลับ การฝึกฟังภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง

การฝึกฟังภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง

      หลายคนอาจกำลังมีปัญหากับการฝึกฟังภาษาอังกฤษด้วยตัวเองกันอยู่ แต่อย่าเพิ่งถอดใจไป! คนส่วนใหญ่มักจะลืมไปว่าทักษะการฟังเป็นทักษะแรกที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเป็นทารกตัวน้อย และยังเป็นทักษะที่เราใช้มากที่สุดในชีวิตประจำวันอีกด้วย ซึ่งหมายความว่าการฝึกฟังภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฟังจากหนัง ข่าว เพลง การ์ตูน ด้วยช่องทางต่าง ๆ อย่างเช่น Youtube Netflix หรือ Podcast เป็นต้น

      แถมถ้าหากเราเรียนรู้เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ เอาไว้สักหน่อย ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องเสียเวลา และช่วยให้เราพัฒนาทักษะได้รวดเร็วยิ่งขึ้น! วันนี้ English Munmun เลยนำ 7 เทคนิค เคล็ด(ไม่)ลับ การฝึกฟังภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง มาฝากทุกคน ไปดูกันเลย!

7 เทคนิค เคล็ด(ไม่)ลับ การฝึกฟังภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง

1. การคิดบวก (Start with a positive mindset)

Every artist was first an amateur.

      หลายคนคงปวดหัวกับปัญหาการฟังภาษาอังกฤษไม่ทัน ฟังไม่ออก หรือฟังไม่เข้าใจ ฝึกยังไงก็ไม่เข้าหัวจนทำให้บางครั้งเกิดความท้อ พาลคิดไปถึงขนาดที่ว่าการฝึกฟังภาษาอังกฤษด้วยตัวเองนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ Ralph Waldo Emerson เคยกล่าวเอาไว้ว่า “Every artist was first an amateur.” แปลได้ว่า “ศิลปินทุกคนล้วนเป็นมือสมัครเล่นกันมาก่อนทั้งนั้น” เปรียบได้เช่นเดียวกับการฝึกฟังภาษาอังกฤษ แน่นอนล่ะว่าในช่วงแรกเริ่มนั้น อะไร ๆ มันก็อาจจะดูยากไปซะหมด แต่จำไว้ว่าทุกการฝึกต้องใช้เวลา ไม่มีใครเก่งได้โดยไม่ผ่านการฝึกฝน

      ดังนั้นลองปรับเปลี่ยนมุมมองของเราดูสักเล็กน้อย เน้นไปที่การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตัวเองในระยะยาวแทนที่จะคาดหวังว่าเราจะบรรลุเป้าหมายโดยฉับพลัน เมื่อใดก็ตามที่เราไปเห็นหรือได้ยินใครสักคนกำลังพูดภาษาอังกฤษอยู่ เราก็ไม่ต้องไปกดดันตัวเองว่าจะต้องฟังให้ออกทั้งหมดหรือแปลให้ได้ทุกคำ ให้เราคิดว่าแค่ฟังไปอย่างเดียวก็พอ และสำหรับมือใหม่ที่อยากเก่งอังกฤษแต่ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นยังไง ก็สามารถเข้าไปอ่าน 5 ขั้นตอน การเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง สำหรับมือใหม่ พูดได้ไว ไม่หลงทาง เพื่อเอาไว้เป็นแนวทางได้เลย!

2. การฝึกแบบสบายใจ (Stay within your comfort zone)

      หนึ่งในวิธีการฝึกฟังภาษาอังกฤษด้วยตัวเองให้เก่งขึ้นที่หลายคนคงเคยได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ คงไม่พ้นวิธีการเอาตัวเองไปคลุกคลีอยู่กับเจ้าของภาษา วันนี้ English Munmun จึงขออนุญาตใช้พื้นที่นี้ในการแสดง Unpopular opinion สักหน่อย

It’s okay to start within your comfort zone.

      ประโยคนี้แปลอย่างง่าย ๆ ได้ว่า “อะไรที่เราไม่สบายใจที่จะทำ ก็ไม่ต้องไปฝืนทำมันก็ได้” หมายความว่า การนำตัวเองไปคลุกคลีกับเจ้าของภาษา ไม่จำเป็นว่าจะใช่วิธีที่ดีหรือมีประสิทธิภาพสูงสุดเสมอไป เพราะวิธีนี้อาจทำให้หลายคนรู้สึกตื่นเต้นหรือรู้สึกกดดันจนไม่มีสมาธิในการฝึกเอาได้ ในทางกลับกัน เราควรเริ่มฝึกฟังภาษาอังกฤษจากสิ่งที่เราชอบหรือสนใจก่อน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฟังจากเพลง จากหนัง จาก Youtube จาก Netflix หรือแม้กระทั่งจากการ์ตูนก็ตาม และยิ่งถ้าเรารู้ 6 เทคนิค ฝึกภาษาอังกฤษจากหนัง ด้วยแล้วละก็ เราก็จะยิ่งสามารถฝึกฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเข้าไปอีก!

3. การฟังท่อนเดิมซ้ำ ๆ จนกว่าจะฟังออก (Repeat the same content)

      ข้อดีของการฝึกฟังภาษาอังกฤษด้วยตัวเองข้อหนึ่งก็คือ เราสามารถที่จะทบทวนเนื้อหาซ้ำกี่ครั้งก็ได้ตามที่เราต้องการ เราอาจจะเลือกเพลงโปรดมาสักหนึ่งเพลง หรือซีรีส์ที่เราชอบมาสักหนึ่งตอน แล้วเราก็ฟังซ้ำ ๆ ให้ได้อย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ และถ้ามีคำไหนที่ยังฟังไม่ค่อยออก ก็ให้เรากดหยุดแล้ววนกลับไปฟังใหม่อีกรอบไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะฟังออกว่าคำ ๆ นั้นคือคำว่าอะไร

      เมื่อเราทำอย่างนี้กับเนื้อหาเดิม ๆ ไปเรื่อย ๆ จนเรามั่นใจว่าเราสามารถฟังออกทุกคำแล้ว เราก็ค่อยเปลี่ยนเนื้อหาที่เราใช้ในการฝึก เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถฟังภาษาอังกฤษออกมากขึ้นได้โดยที่เราไม่รู้สึกเบื่อแล้วนั่นเอง

4. การใช้ White Noise ให้เป็นประโยชน์ (Make the most of white noise)

      White Noise คือ เสียงแบ็กกราวนด์ที่เล่นคลอเบา ๆ ขณะที่เรากำลังทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ มีงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาจำนวนไม่น้อยยืนยันว่าเจ้า White Noise เนี่ย มีผลดีต่อสมาธิและความทรงจำ รวมถึงมีส่วนช่วยในการเรียนรู้ของมนุษย์ได้

การฝึกฟังภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง

      ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากำลังทำกิจวัตรใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดบ้าน การออกกำลังกาย หรือการนอนพักผ่อนอยู่เฉย ๆ ก็ตาม การเปิดเพลง ข่าว หรือสื่อภาษาอังกฤษอื่น ๆ เช่น Podcast หรือ Youtube คลอไปด้วยในขณะที่ทำกิจกรรมเหล่านี้ก็จะช่วยสร้างความคุ้นชินทางภาษาให้กับเราเองโดยที่เราไม่รู้ตัวต่อให้เราจะไม่ได้ตั้งใจฟังเลยก็ตาม

5. การฟังคำหลักของประโยค (Focus on keywords)

      ในช่วงแรกที่เราฝึกฟังภาษาอังกฤษนั้น เราควรพยายามข่มจิตใจและระงับความพยายามที่จะเข้าใจทุก ๆ คำที่คู่สนทนาของเรากำลังพูด รวมไปถึงสื่อภาษาอังกฤษที่เราใช้ในการฝึกฟังด้วย สิ่งที่สำคัญไปกว่าการฟังให้ออกทุกคำก็คือ การตามบทสนทนาให้ทัน การจับใจความสำคัญให้ได้ และการเข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดต้องการที่จะสื่ออย่างถูกต้องต่างหาก

      ดังนั้น ให้เราพยายามเน้นฟังคำที่พอจะบอกเราเป็นนัย ๆ ได้ถึงแนวทางหรือหัวข้อที่คู่สนทนากำลังพูดอยู่ เช่น ในประโยค “Because of the heavy rain, the outdoor event is delayed.” เพียงแค่คำว่า heavy rain (ฝนตกหนัก) outdoor event (กิจกรรมกลางแจ้ง) และ delay (เลื่อน) สามคำนี้ก็สามารถทำให้เราพอจะเดาได้แล้วว่าผู้พูดกำลังจะสื่อสารอะไรกับเราโดยที่เราไม่จำเป็นต้องฟังออกทุกคำในประโยคด้วยซ้ำ!

6. การฟังในสิ่งที่อีกฝ่ายไม่ได้พูด (Listen beyond the words)

      แล้วถ้าเราพอฟังภาษาอังกฤษออกแต่แปลไม่ได้ล่ะ? ปัญหาหลักของการแปลไม่ได้ คือการที่เราไม่รู้คำศัพท์ ซึ่งปัญหานี้แก้ได้ไม่ยากเลยเพราะว่าในปัจจุบันมีพจนานุกรมออนไลน์มากมายให้เราเลือกใช้ แถมยังฟรีอีกด้วย เช่น Cambridge Dictionary และ Oxford Dictionary เป็นต้น หรือถ้าเป็นศัพท์สแลงที่มักเจอได้บ่อยในเพลง หนัง หรือซีรีส์ ก็ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะ Urban Dictionary มีอธิบายเอาไว้ให้หมดแล้ว! แต่ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็คคำศัพท์ได้ ให้เราลองฟังในสิ่งที่อีกฝ่ายไม่ได้พูดออกมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง โทนเสียง หรือเสียงของสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ รวมไปจนถึงการอ่านสีหน้าและท่าทางของคู่สนทนา ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับรู้บริบทและคาดเดาสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะสื่อได้ง่ายขึ้น

7. การฝึกฟังภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง จากสำเนียงที่หลากหลาย (Experiment with different accents)

      ในปัจจุบันนี้ คนที่พูดภาษาอังกฤษมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก ก็เลยทำให้ภาษาอังกฤษนั้นมีหลากหลายสำเนียงแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดถ้าเราจะไม่สามารถฟังออกได้เลยในทันที แม้แต่เจ้าของภาษาเองก็ยังรู้สึกว่าสำเนียงบางสำเนียงนั้นฟังยากถึงแม้จะเป็นภาษาอังกฤษเหมือนกันก็ตาม!!

      การฝึกฟังบ่อย ๆ เพื่อให้คุ้นชินกับภาษาอังกฤษหลาย ๆ สำเนียงนั้นจึงถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมากในปัจจุบันที่โลกมีการเปิดกว้างมากขึ้น การติดต่อสื่อสารทางธุรกิจนั้นมักจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลซะส่วนใหญ่ การที่เราสามารถฟังภาษาอังกฤษหลาย ๆ สำเนียงได้นั้นจึงถือเป็นการเพิ่มโอกาสและข้อได้เปรียบให้กับตัวเราเอง

ตัวอย่างสำเนียงภาษาอังกฤษจากหลาย ๆ ชาติ:

สรุป

  1. คิดบวก
  2. ฝึกแบบสบายใจ
  3. ฟังจนกว่าจะฟังออก
  4. ใช้ White Noise ให้เป็นประโยชน์
  5. ฟังแบบจับใจความ
  6. สังเกตบริบทรอบข้าง
  7. ฝึกฟังภาษาอังกฤษจากหลาย ๆ สำเนียง

คำศัพท์ที่น่าสนใจในบทความนี้

comfort zone (n.) = จุดที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ

amateur (n.) = มือใหม่ / มือสมัครเล่น

เรียนภาษาอังกฤษสำหรับมือใหม่ ‘เรียนชาตินี้ เก่งถึงชาติหน้า’ ที่ English Munmun กับคอร์สเรียนที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจากผู้เรียนกว่า 20,000 คน ว่าพูดได้จริง ไม่ใช่แค่ท่องจำ

วัดระดับภาษาอังกฤษ ฟรี! คลิกที่นี่

สนใจคอร์สเรียน คลิกที่นี่ เพื่อดูรายละเอียดได้เลย

กลับสู่สารบัญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้ประเภทจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้ประเภทจำเป็นสำหรับระบบเว็บไซต์ได้

Save